news

 

รายงานของหนังสือพิมพ์ฮาซาฮีของญี่ปุ่นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นประเด็นสืบเนื่องจากคำโอ้อวดของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ระหว่างการแถลงข่าวที่ทำเนียบขาวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เกี่ยวกับการประชุมสุดยอดระหว่างตัวเขากับคิม จองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ที่จะจัดขึ้นครั้งที่ 2 ที่กรุงฮานอยของเวียดนามปลายเดือนนี้ ซึ่งทรัมป์อ้างว่าอาเบะเสนอชื่อตัวเขารับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เพราะเขาพบปะกับคิมเมื่อปีก่อน ซึ่่งช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดกับเกาหลีเหนือลงได้

ฮาซาฮีอ้างแหล่งข่าวในรัฐบาลที่ไม่เปิดเผยนามรายหนึ่งว่า รัฐบาลสหรัฐได้ถามความเห็นอาเบะเรื่องการเสนอชื่อทรัมป์หลังซัมมิตที่สิงคโปร์เมื่อเดือนมิถุนายน 2561

ขณะที่รอยเตอร์สรายงานเมื่อวันอาทิตย์ว่า โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่นกล่าวว่า กระทรวงรับทราบเกี่ยวกับคำกล่าวของประธานาธิบดีสหรัฐแล้ว แต่กระทรวงจะของดให้ความเห็นเกี่ยวกับการโต้ตอบกันระหว่างผู้นำทั้งสอง ด้านทำเนียบขาวยังไม่มีท่าทีต่อรายงานข่าวนี้

ทั้งนี้ ทรัมป์กล่าวเมื่อวันศุกร์ว่า นายกฯ ชินโซ อาเบะ ได้ส่งสำเนาจดหมายสวยงามที่สุดความยาว 5 หน้ากระดาษมาถึงตน แจ้งว่าได้เสนอชื่อตนชิงรางวัลโนเบล “เขาบอกว่า ด้วยความเคารพ ผมได้เสนอชื่อคุณในนามของญี่ปุ่น ผมร้องขอพวกเขามอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพแก่คุณ”

รายงานของสำนักข่าวเอพีเมื่อวันเสาร์ไม่สามารถยืนยันคำกล่าวอ้างของทรัมป์ และสถานทูตญี่ปุ่นประจำกรุงวอชิงตันก็ไม่ยอมให้ทรรศนะต่อเรื่องนี้แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ทรัมป์อ้างว่า อาเบะเสนอชื่อเขารับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเพราะความวิตกกังวลเรื่องเกาหลีเหนือยิงทดสอบขีปนาวุธข้ามเกาะญี่ปุ่น

ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีมุน แจอิน ของเกาหลีใต้ซึ่งยกย่องทรัมป์ที่เริ่มการเจรจากับผู้นำเกาหลีเหนือ ก็เคยสนับสนุนให้มอบรางวัลโนเบลแก่ทรัมป์เช่นกัน

โอบามาเคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี 2552 หรือตั้งแต่ปีแรกที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ จากคุณงามความดีที่เขาให้พันธสัญญาว่าจะพยายามทำให้โลกใบนี้มีสันติภาพและความมั่นคงโดยปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ แต่ทรัมป์กล่าวว่า โอบามาอยู่ตรงนั้น “แค่ 15 วินาที” แล้วก็ได้รางวัล

ข้อมูลในเว็บไซต์ของมูลนิธิโนเบลเผยว่า มูลนิธิได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเสนอชื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดหรือสถาบันหรือสมาคมใดรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพไว้หลายประการ หนึ่งในนั้นรวมถึงบุคคลที่ดำรงตำแหน่งผู้นำรัฐบาลหรือรัฐสภา และตามกฎของมูลนิธินั้น ชื่อของบุคคลหรือองค์กรและข้อมูลอื่นๆ เกี่ยวกับผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อแต่ไม่ได้รับรางวัลนั้นจะไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณะเป็นเวลา 50 ปี