เกิดอะไรขึ้นกับเที่ยวบินมาเลย์ MH370
สำนักข่าวเดอะสเตราท์ไทมส์ของสิงคโปร์ได้ตีแผ่ 5 ประเด็นที่อาจจะเกิดขึ้นกับเที่ยวบินที่ MH370 ของสายการบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ส ที่ขาดการติดต่อและสูญหายอย่างไร้ร่องรอย เหนือน่านน้ำมาเลเซีย-เวียดนาม เมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่ง 5 ประเด็นดังกล่าวเป็นการประมวลข้อสันนิษฐานจากสื่อนานาชาติที่เชื่อมโยงเกี่ยวกับความเป็นไปได้กับสิ่งอาจจะเกิดขึ้นบนเที่ยวบิน MH370 ที่ประสบเหตุ
“การก่อการร้าย”ข้อสันนิษฐานดังกล่าวกลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากนานาชาติในทันที เมื่อเกิดกระแสข่าวพบว่ามีสวมรอยแอบลักลอบขึ้นเครื่องบินเที่ยวบิน MH370 ที่ประสบเหตุ โดยผู้ต้องสงสัย 2 คนใช้พาสปอร์ตที่ขโมยมาจากนักท่องเที่ยวชาวยุโรป ระหว่างท่องเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งเจ้าของพาสปอร์ตตัวจริงได้ออกมายืนยันตัวตนว่า ไม่ได้อยู่บนเที่ยวบิน MH370 ตามที่ปรากฏในรายชื่อผู้โดยสาร
ขณะที่ข้อมูลเชิงลึกพบว่า ผู้ต้องสงสัย 2 คน ได้ทำการซื้อตั๋วเครื่องบินโดยสารผ่านสายการบินไชน่า เซาท์เทิร์น แอร์ไลน์สจากเอเยนซี่ในเมืองไทย เมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา ทั้ง 2 มีเลขรหัสจองตั๋วเครื่องบินไล่ลำดับตามกัน แต่ทั้ง 2 มีจุดหมายปลายที่ต่างกัน คนหนึ่งไปประเทศเดนมาร์ก ส่วนอีกคนไปประเทศเยอรมัน ทั้งคู่ชำระเงินค่าตั๋วด้วยเงินสกุลบาท และล่าสุดยังพบผู้ต้องสงสัยเพิ่มอีก 2 คน ซึ่งกรณีดังกล่าวทำให้ทางเอฟบีไอของสหรัฐฯ ต้องเข้ามาร่วมสอบสวนด้วย นอกจากนี้ยังมีประเด็นเกี่ยวกับ กลุ่มกบฏอุยกูร์ ที่เพิ่งก่อเหตุไล่แทงผู้คนเสียชีวิตที่สถานีรถไฟเมืองคุนหมิง เมื่อสัปดาห์ก่อน การเชื่อมโยงนี้เกิดขึ้นเนื่องจากบนเที่ยวบินที่ MH370 ผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นพลเมืองชาวจีน
“เครื่องบินระเบิด”ข้อสันนิษฐานนี้เกิดขึ้นเพราะการหายไปอย่างไร้ร่องรอยของเที่ยวบิน MH370 ที่สัญญาณหายไปจากรอเรดาร์อย่างผิดปกติ ทำให้เกิดแนวคิดทฤษฏีทางการบินเกี่ยวกับเครื่องบินระเบิดกลางอากาศ ซึ่งอาจจะเป็นผลจากสภาพอากาศ ฝนฟ้าคะนอง แรงกดอากาศ รวมทั้งฟ้าผ่าใส่เครื่องบิน แต่ทั้งนี้จากการตรวจสอบสภาพอากาศในช่วงเวลาที่เที่ยวบิน MH370 ทำการบินพบว่า สภาพอากาศปลอดโปร่ง ไม่มีสภาวะแรงกดอากาศหรือพายุแต่อย่างใด
“ระบบกลไกของเครื่องบินขัดข้อง”ข้อสันนิษฐานนี้เกิดข้อสังเกตหลังจากมีกระแสข่าวระบุว่า พบสัญญาณเส้นทางการบินของเที่ยวบินที่ MH370 ได้หักเลี้ยวกลับเข้าสู่ชายฝั่งประเทศมาเลเซียอย่างผิดปกติ ซึ่งอาจจะไปได้ว่าเกิดเหตุขัดข้องกับระบบกลไกระหว่างทำการบิน นักบินจึงตัดสินใจนำเครื่องกลับเข้าฝั่ง รวมทั้งประเด็นการซ่อมบำรุงของเครื่องบินลำดังกล่าว ซึ่งเคยประสบเหตุเฉี่ยวชนกับเครื่องบินลำอื่น เมื่อปี 2012 จนเป็นเหตุทำให้ส่วนปีกของเครื่องได้รับความเสียหาย แต่ได้รับการซ่อมแซมและผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากโบอิ้ง ได้อนุญาตให้นำเครื่องกลับมาบินได้อีกครั้ง นอกจากนี้ยังมีการหยิบยกประเด็นเหตุขัดข้องกับเครื่องบินโบอิ้ง 777 ที่ประเทศอังกฤษ เมื่อปี 2008 และสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2009 ซึ่งนักบินนำเครื่องลงจอดฉุกเฉืนกลางแม่น้ำฮัดสัน
“เครื่องบินสูญเสียการควบคุมกะทันหัน”ข้อสันนิษฐานดังกล่าวถูกหยิบยกมาเปรียบเทียบกับกรณีที่เคยเกิดขึ้นกับเที่ยวบินที่ 447 สายการบินแอร์ฟรานซ์ เมื่อปี 2009 ที่ประสบเหตุตกกลางมหาสมุทรแอตแลนติก ระหว่างเดินไปจากประเทศบราซิลไปประเทศฝรั่งเศส ซึ่งกรณีของสายการบินแอร์ฟรานซ์เกิดจากสภาวะเครื่องบินสูญเสียการทรงตัวอย่างกะทันหัน ประกอบกับช่วงเวลาสภาพอากาศเลวร้าย นักบินไม่สามารถบังคับเครื่องบินได้ ก่อนตัดสินใจพยายามเชิดหัวเครื่องบินขึ้น เป็นเหตุทำให้เครื่องบินเริ่มลดระดับลงจากอย่างรวดเร็ว ก่อนจะตกกระแทกผืนน้ำในมหาสมุทรด้วยความเร็ว 320 กม./ชม. ทั้งนี้กรณีดังกล่าวยังคงอยู่ในระหว่างการสืบสวนสรุปหาข้อเท็จจริง
“ปัญหาเกี่ยวกับนักบินและผู้ช่วยนักบิน”ข้อสันนิษฐานข้อสุดท้าย การตัดสินใจฆ่าตัวตายของนักบิน สื่อต่างชาติยังได้นำมาเชื่อมโยงตั้งเป็นอีกประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับเที่ยวบินที่ MH370 ครั้งนี้ด้วย เนื่องจากกรณีดังกล่าวเคยเกิดขึ้นจริงกับ สายการบินอิยิปต์แอร์ เมื่อปี 1999 เที่ยวบินจากกรุงไคโร มุ่งหน้าสู่มหานครนิวยอร์ก นักบินตัดสินใจนำเครื่องบินพร้อมผู้โดยสารและลูกเรือ 217 ชีวิต ดิ่งจมลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติก นอกจากชายฝั่งสหรัฐฯ ซึ่งภายหลังพบว่าเป็นฆ่าตัวตายของนักบิน อย่างไรก็ตามกรณีดังกล่าวเชือว่าเป็นประเด็นที่น่าจะมีความเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักบินบนเที่ยวบินที่ MH370 ที่มีวุฒิภาวะและมีประสบการณ์ทางการบินมากกว่า 30 ปี