เสริมดวง แก้ชง ปี 2556
ในปี 2556 ท่านที่มีปีเกิดที่ชงกับปีนี้ และควรไปไหว้ “องค์ไท้ส่วย (ขุนพลฉื่อตัวไต่เจียงกุง)” คือ ท่านที่เกิดปี ดังต่อไปนี้
1. คนเกิดปีกุน ชง (ปะทะ) โดยตรงกับเทพเจ้า “ไท้ส่วยเอี๊ย” และเป็นอริกับปีมะเส็งโดยตรง 2. คนเกิดปีมะเส็ง ทับไท้ส่วย และ “คัก” กับปีมะเส็ง 3. คนเกิดปีขาล ปีร่วมชงไท้ส่วย พร้อม “ไห่(ให้ร้าย) และ “เฮ้ง(เบียดเบียน) กับปีมะเส็ง 4. คนเกิดปีวอก ปีร่วมชงไท้ส่วย พร้อม “ผั่ว (แตกแยก)” และ “เฮ้ง (เบียดเบียน)” กับปีมะเส็ง
ห้ามไปเป็นเจ้าภาพหรือเข้าร่วมพิธีทั้งงานมงคล(แต่งงาน) และอัปมงคล(งานศพ รวมถึงการเยี่ยมไข้คนป่วยด้วย) แต่ถ้าหากไม่สามารถเลี่ยงได้ก็ขอให้ละเว้นการไปดูศพเวลาฝังศพ(เผาศพ) หรือแม้แต่การส่งศพ และควรติดกิ่งทับทิมไปด้วย พร้อมทั้งเตรียมน้ำใส่กิ่งทับทิมไว้ด้วยสำหรับล้างหน้าก่อนที่จะเข้าบ้านเมื่อกลับถึงบ้านหลังจากไปร่วมงานกลับมาแล้ว เพื่อป้องกันสิ่งอัปมงคลต่างๆ จะปะทะให้เจ็บป่วยได้คือ ท่านที่เกิดในปีนักษัตร ดังต่อไปนี้
1. คนเกิดปีกุน ท่านที่เกิด ปี 2490 (อายุ 66ปี) ปี 2514 (อายุ 42ปี) ปี 2550 (อายุ 6ปี) 2. คนเกิดปีมะเส็ง ท่านที่เกิด ปี 2472 (อายุ 84ปี) ปี 2532 (อายุ 24ปี) 3. ปีขาล ท่านที่เกิด ปี 2481 (อายุ 75ปี) ปี 2505 (อายุ 51ปี) ปี 2541 (อายุ 15ปี) 4. ปีวอก ท่านที่เกิด ปี 2463 (อายุ 93ปี) ปี 2523 (อายุ 33ปี)
เครื่องบูชาเทพเจ้าไท้ส่วย มีดังนี้ (ถ้าไปทำพิธีที่วัดเล่งเน่ยยี่ ทางวัดมีจัดบริการไว้ให้แล้วเป็นชุด)1. ธูป 3 ดอก ต่อ 1 ท่าน
2. เทียนแดง 1 คู่
3. หงิ่งเตี๋ย 12 คู่
4. ตั่วกิม 12 แผ่น (กระดาษทอง)
5. ทุกหลั่งจี๊ 12 แผ่น
6. เป๋าอุ่งจี๊ 12 แผ่น
7. เผ่งอังจี๊ 12 แผ่น
8. กระดาษแดง (อั่งเถียบ) 1 แผ่น
9. ขนมจันอับ (จับกิ้มทึ้ง) 1 จาน อันประกอบด้วย…. ถั่วเคลือบน้ำตาลสีขาว ถั่วเคลือบน้ำตาลสีชมพู ฟักเชื่อม ถั่วตัด ข้าวพอง
10. ส้ม 4 ผล 1 จาน
1. นำกระดาษแดงที่เขียน ชื่อ-นามสกุล วัน เดือน ปีเกิด (และเวลาตกฟาก) ลางลงบนกระดาษไหว้ ใช้หนังสติ๊ก หรือเชือกแดงมัดไว้
2. จัดส้ม 4 ผล และขนมจันอับใส่จานจัดวางต่อหน้าองค์เทพเจ้าไท้ส่วยเอี๊ย
3. จุดเทียนแดงปักไว้ข้างๆ กระถาง จากนั้นจุดธูป 3 ดอก อธิษฐานให้ท่านช่วยคุ้มครองให้ปลอดภัย จากอันตรายต่างๆ และประสบแต่สิ่งที่ดีตลอดทั้งปี
4. ถ้าเป็นของตนเองให้หยิบชุดสะเดาะเคราะห์ที่เตรียมไว้ตามข้อ 1 ปัดตั้งแต่ศรีษะลงมาจนสุดแขน 12 ครั้ง (หมายเหตุ ถ้าท่านไปไหว้แทนบุคคลอื่น ก็ไม้ต้องทำพิธีปัดตัว แต่ให้กระทำโดยปัดเสื้อของบุคคลนั้นแทน)
5. นำชุดสะเดาะเคราห์วางลงในกล่องรับฝากที่ทางวัดจัดไว้ให้ ก็เป็นอันเสร็จพิธี ของเซ่นไหว้ต่างๆ ถวายให้วัดไม่ต้องนำกลับบ้าน
คำอธิษฐานขอพรไหว้เทพเจ้า วันนี้ตรงกับวันที่…เดือน…..พ.ศ. … ข้าพเจ้าชื่อ….นามสกุล….วันเดือนปีเกิด….ที่อยู่…ขอ อัญเชิญเทพเจ้า……….โปรดเสด็จมารับเครื่องสักการบูชาทั้งหลาย เมื่อรับแล้วโปรดประทานพรให้ข้าพเจ้าและครอบครัวประสบแต่สรรพสิริมงคลมีความสุขความเจริญก้าวหน้าอุดมด้วยโชคลาภ ทำมาค้าขึ้น เงินทองไหลมาเทมา ปราศจากทุกข์โศกโรคภัย สิ่งอัปมงคลทั้งหลายอย่าได้แผ้วพานขอให้สมความปรารถนาด้วยมงคลทั้งปวงเทอญ
ปีชงของแต่ละปีเกิด
ตามตำราจีนเชื่อว่า ในปีชง เราจะประสบเคราะห์ภัยรุมเร้ามากกว่าในเวลาปกติธรรมดา แม้ว่าจะไม่ได้เป็นเรื่องของกรรมเด่นชัด แต่ก็เชื่อว่าเมื่อดวงชะตาอ่อนกำลังลง กรรมและเคราะห์ย่อมมีกำลังแรงขึ้น ในปีนั้นๆ จึงต้องเร่งทำบุญสะเดาะห์เคราะห์ให้หนักเป็นพิเศษ หลายคนไม่เคยเกิดอุบัติเหตุก็มาเกิดเหตุในปีชง บางคนค้าขายขาดทุนในปีชง บางคนพบแต่อุปสรรคและทุกข์ภัยมากกว่าปีใดๆ
ปีชงของแต่ละปีเกิด มีดังนี้
ปีชวด ปีชง คือ ปีมะเมีย
ปีฉลู ปีชง คือ ปีมะแม
ปีขาล ปีชง คือ ปีวอก
ปีเถาะ ปีชง คือ ปี ระกา
ปีมะโรง ปีชง คือ ปีจอ
ปีมะเส็ง ปีชง คือ ปีกุน
ปีมะเมีย ปีชง คือ ปีชวด
ปีมะแม ปีชง คือ ปีฉลู
ปีวอก ปีชง คือ ปีขาล
ปีระกา ปีชง คือ ปีเถาะ
ปีจอ ปีชง คือ ปีมะโรง
ปีกุน ปีชง คือ ปีมะเส็ง
การสะเดาะห์เคราะห์ในปีชง
มีวิธีที่แนะนำดังนี้
1. ปล่อยนกปล่อยปลาเท่าอายุ
2. ทำบุญสังฆทานทุก 2 เดือน
3. ถือศีล กินเจ ทุกเดือน (เดือนละกี่วันก็ตามสะดวก)
4. ทำบุญซื้อโลงศพ
5. นั่งสมาธิหมั่นทำบุญตักบาตร
6. ไหว้พระ 9 วัด
7. ร่วมทำบุญซื้อชีวิตวัวควาย
ไหว้พระ ๙ วัด เพื่อความเป็นสิริมงคล
1. ศาลหลักเมือง กรุงเทพมหานคร (เวลาเปิด-ปิด 05.30 – 19.30 น.) คติ ” ตัดเคราะห์ ต่อชะตา” กิจกรรม สักการะหลักเมือง ไหว้พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง เจ้าพ่อเจตคุปต์ พระเทพไชยศรี เจ้าพ่อหอกลอง ประกอบพิธีสะเดาะเคราะห์ ตามธรรมเนียมเพื่อความเป็นสิริมงคล ” ไหว้หลักเมือง ตัดเคราะห์ ต่อชะตา เสริมวาสนาบารมี ” สถานที่ตั้ง อยู่บริเวณหัวมุมสวนหลวง ข้างพระบรมมหาราชวัง ถนนหลักเมือง แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร การเดินทาง เดินทางโดยรถประจำทาง สาย 1, 3, 9, 15, 25, 30, 32, 33, 39, 43, 44, 47, 53, 64, 80, 82, 91,201, 203 รถปรับอากาศ สาย 503,508, 512
2. วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (เวลาเปิด-ปิด 08.30 – 16.00 น.) คติ “แก้วแหวนเงินทองไหลมา” กิจกรรม ไหว้พระแก้วมรกต พระพุทธรูปสำคัญในภูมิภาคเอเชีย เป็นศูนย์กลางความศรัทธาไทย – ลาว เพื่อความเป็นสิริมงคล ” ไหว้พระแก้วมรกต แก้วแหวน เงินทองไหลมาเทมาตลอดปี ” สถานที่ตั้ง อยู่ในพระบรมมหาราชวัง ถนนหน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร การเดินทาง เดินทางโดยรถประจำทาง สาย 1, 3, 9, 15, 25, 30, 32, 33, 39, 43, 44, 53, 59, 64, 80, 82,91,201, 203 รถปรับอากาศ สาย 501, 503, 508, 512
3. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) (เวลาเปิด-ปิด 08.00 – 16.00 น.) คติ “ร่มเย็นเป็นสุข” กิจกรรม นมัสการพระพุทธไสยาสน์อันศักดิ์สิทธิ์ (ที่ฝ่าพระบาททั้งสองข้างประดับมุก ลวดลายภาพมงคล 108 ประการ) เพื่อความเป็นสิริมงคล ” ไหว้พระนอนวัดโพธิ์ อยู่ดีกินดีตลอดปี ” สถานที่ตั้ง หลังพระบรมมหาราชวัง ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร การเดินทาง เดินทางโดยรถประจำทาง สาย 1, 3, 6, 9, 12, 25, 43, 44, 47, 53, 60, 82, 91, 123,รถปรับอากาศ สาย 501, 508
4. ศาลเจ้าพ่อเสือ (เวลาเปิด-ปิด 08.00 – 16.00 น.) คติ “มีอำนาจบารมี” กิจกรรม ไหว้ศาลเจ้าพ่อเสือ “ศาลเจ้าเก่าแก่ของลัทธิเต๋า” หนึ่งในสามมหาสถานของพระนครที่ชาวจีนต้องสักการะบูชา เพื่อความเป็นสิริมงคล ” เสริมอำนาจบารมี ” สถานที่ตั้ง ถนนตะนาว แขวงเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร การเดินทาง เดินทางโดยรถประจำทาง สาย 10, 12, 19, 35, 42, 56, 96
5. วัดสุทัศนเทพวราราม (เวลาเปิด-ปิด 08.00 – 16.00 น.) คติ “มีวิสัยทัศน์ที่ดี” กิจกรรม ไหว้พระองค์ประธาน (พระศรีศากยมุณี) ที่เก่าแก่ ซึ่งอดีตเคยประดิษฐานอยู่ที่วิหารหลวงวัดมหาธาตุของกรุงสุโขทัย เพื่อความเป็นสิริมงคล “ไหว้พระวัดสุทัศนฯ มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีเสน่ห์แก่บุคคลทั่วไป” สถานที่ตั้ง บริเวณเสาชิงช้า ตรงข้ามศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร การเดินทาง เดินทางโดยรถประจำทาง สาย 10, 12
6. วัดชนะสงคราม (เวลาเปิด-ปิด 08.00 – 16.00 น.) คติ “มีชัยชนะต่ออุปสรรคทั้งปวง” กิจกรรม ไหว้พระประธานในโบสถ์และรูปเคารพสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (บุญมา) ผู้นับถือความซื่อสัตย์ เพื่อความเป็นสิริมงคล “ไหว้พระวัดชนะสงคราม อุปสรรคร้ายพ่ายแพ้” สถานที่ตั้ง ถนนจักรพงษ์ แขวงบางลำพู เขตพระนคร การเดินทาง เดินทางโดยรถประจำทาง สาย 3, 6, 9, 15, 30, 32, 33, 43, 53, 64, 65, 82, 123 รถปรับอากาศ สาย ปอ. 6, 509
7. วัดระฆังโฆษิตาราม (เวลาเปิด-ปิด 08.00 – 16.00 น.) คติ “มีคนนิยมชมชื่น” กิจกรรม สักการะสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) และพระประธานที่วัดระฆัง อ่านคาถาชินบัญชร เพื่อความเป็นสิริมงคล ” ไหว้พระวัดระฆัง มีชื่อเสียงโด่งดังตลอดปี ” สถานที่ตั้ง ถนนอรุณอัมรินทร์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย การเดินทาง เดินทางโดยรถประจำทาง สาย 19, 57, 83 ท่าเรือ เรือด่วนเจ้าพระยา ลงท่ารถไฟหรือท่าวังหลังก็ได้ หรือลงเรือข้ามฟากจากท่าช้างไปท่าวัดระฆัง
8. วัดอรุณราชวราราม (เวลาเปิด-ปิด 08.00 – 16.00 น.) คติ “ชีวิตรุ่งโรจน์ทุกคืนวัน” กิจกรรม ไหว้พระปรางค์วัดอรุณฯ เพื่อความเป็นสิริมงคล “ไหว้พระวัดอรุณ ชีวิตโรจน์รุ่ง ทุกวันคืน” สถานที่ตั้ง ข้างกองทัพเรือ ถนนอรุณอัมรินทร์ เขตบางกอกใหญ่ การเดินทาง เดินทางโดยรถประจำทางสาย 19, 57, 83 ทางเรือ ลงเรือข้ามฟากที่ท่าเตียนขึ้นที่ท่าวัดอรุณ
9. วัดกัลยาณมิตร (เวลาเปิด-ปิด 08.00 – 16.00 น.) คติ “เดินทางปลอดภัย” กิจกรรม ไหว้หลวงพ่อซำปอกง (พระพุทธไตรรัตนนายก) พระโตริมน้ำตามตำนาน กรุงศรีอยุธยา ณ วัดกัลยาณมิตร เพื่อความเป็นสิริมงคล “ไหว้หลวงพ่อซำปอกง โชคดีมีชัยปลอดภัยตลอดปี” สถานที่ตั้ง แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี การเดินทาง โดยรถประจำทาง สาย 3, 4, 7, 7ก, 9, 21, 37, 56, 82 รถปรับอากาศ สาย ปอ. 7, 21, 82 (นั่งรถจักรยานยนต์รับจ้างจากโรงเรียนศึกษานารี เข้ามาที่วัดเพราะรถ ประจำทางเข้าไม่ถึง) ทางเรือ ลงเรือข้ามฟากที่ท่าปากคลองตลาดขึ้นท่าวัดกัลยาณมิตร เพื่อความสะดวกควรเดินทางด้วยรถโดยสารประจำทาง หรือบริการขนส่งสาธารณะ เนื่องจากสถานที่จอดรถมีจำกัดมาก
เกร็ดเสริม เที่ยวสิริมงคลไหว้พระ 9 วัด
เป็นเรื่องที่นิยมมาตลอดกับการไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อเป็นสิริมงคลกับตัวเอง ทัวร์ “ไหว้พระ 9 วัด” กลายเป็น “มงคล” ยอดฮิตที่คนไทยและต่างชาติกำลังให้ความสนใจ วัดทั้ง 9 ที่ว่ามี วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร, ศาลหลักเมือง, วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว), วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์), วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร, ศาลเจ้าพ่อเสือ, วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร, วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร (วัดแจ้ง), วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร บางคนเคร่งครัดจัดถึงขนาดที่จะต้องไปสักการะให้ครบทั้ง 9 แห่งในวันเดียว !!! ความฮิตดังว่าทำให้การททท.หยิบ “ทัวร์มงคล” นี้ใส่ในโปรเจ็กต์ดึงดูดนักท่องเที่ยวเพื่อให้หันมาสนใจท่องเที่ยวบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์กันมากขึ้น และเพื่อเป็นการดึงดูดใจเป็นทวีคูณ ททท. เหน็บเกร็ดความรู้ ความเชื่อและวิธีการสักการะแต่ละแห่งเพื่อเสริมความมงคลกันอย่างสูงสุด
วัดชนะสงคราม ต้องไปสักการะ “พระประธาน” ในพระอุโบสถ และ “สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท” ด้วย ธูป 5 ดอก เทียน 1 เล่ม ดอกบัว 1 ดอก มีความเชื่อว่า “จะมีชัยชนะต่ออุปสรรคทั้งปวง”
ศาลหลักเมือง ไปสักการะ “เทพารักษ์ทั้ง 5” คือ พระเสื้อเมือง, พระทรงเมือง, พระกาฬไชยศรี, เจ้าพ่อเจตคุปต์, เจ้าพ่อหอกลอง เพื่อ “ตัดเคราะห์ ต่อชะตา เสริมวาสนาบารมี” ไหว้ เสาหลักเมืององค์จำลอง ด้วยธูป 3 ดอก เทียน 1 เล่ม ผ้าแพร 3 สี ดอกบัว และไหว้องค์จริงด้วยพวงมาลัย
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ไปที่นี่ต้องไปไหว้ “พระแก้วมรกต” ด้วยธูป เทียน ดอกบัวคู่ เพื่อ “แก้วแหวนเงินทองไหลมาเทมา”
วัดพระเชตุพนฯ ต้องไปไหว้ “พระพุทธไสยาสน์” เพื่อ “ความสงบสุขร่มเย็น” ด้วยธูป 9 ดอก เทียนแดงคู่ ทองคำเปลว 11 แผ่น
วัดสุทัศน์ฯ เพื่อ “วิสัยทัศน์กว้างไกล มีเสน่ห์แก่คนทั่วไป” ต้องไปสักการะ “พระศรีศากยมุนี” ด้วยธูป 3 ดอก เทียน 2 เล่ม ดอกบัวหรือพวงมาลัย
ศาลเจ้าพ่อเสือ ไปสักการะ เจ้าพ่อเสือ เจ้าพ่อกวนอู เจ้าแม่ทับทิม ฯลฯ เพื่อเสริม “อำนาจบารมี” ด้วยธูป 18 ดอก ปัก 6 กระถาง เทียนแดง 1 คู่ พวงมาลัย 1 พวง
วัดระฆังฯ ต้องไปสักการะ “สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โตพรหมรังสี) ด้วยธูป) 3 ดอก เทียนคู่ ทองคำเปลว 3 แผ่น หมากพลู และภาวนาด้วยคาถาชินบัญชร เพื่อ “ความนิยมชมชื่น มีชื่อเสียงโด่งดัง”
วัดอรุณฯ ต้องไปสักการะ “พระประธาน” ด้วยธูป 3 ดอก เทียนคู่ และต้องไปเดินทักษิณาวัตรรอบ “พระปรางค์” อีก 3 รอบ เพื่อ “ชีวิตรุ่งโรจน์”
วัดกัลยาณมิตรฯ ไหว้ “พระประธานหรือหลวงพ่อซำปอกง” ด้วยธูป 3 ดอก เทียนแดงคู่ เพื่อ “ความสวัสดีมีชัย เดินทางปลอดภัย”
การได้ไปนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองนั้นไม่จำเป็นต้องไปในวันพิเศษทางศาสนาเท่านั้น หากสามารถไปนมัสการได้ทุกเมื่อ ซึ่งการไปนมัสการนี้ ไม่เพียงจะก่อให้เกิดความสบายใจเท่านั้น หากยังเป็นกุศโลบายที่สร้างความเชื่อมั่นในการพาชีวิตก้าวเดินต่อไปในอนาคต ด้วยสัญญาใจที่ให้ไว้กับตัวเอง และถ้าไม่มุ่งมั่นในโกย “มงคล” เกินไป เวลานั้นน่าจะเป็นเวลาทองที่ได้ซึมซับความสงบสุข ความศรัทธาอันยิ่งใหญ่ของบรรพบุรุษไทยได้อีกด้วย