วันเบาเบาที่ (เคย) หนักใจ
ใกล้จะถึงวันนั้นของเดือนอีกแล้ว เฮ้อ! คุณหลายคนถึงกับถอนหายใจอย่างเหนื่อยล้า เพราะวันนั้นมาถึงทีไร เหมือนระบบต่าง ๆ ในร่างกายแปรปรวนไปหมด บางคนโชคดีหน่อยแค่เมื่อยล้าแต่บางคนถึงกับต้องล้มหมอนนอนเสื่อ เรามีวิธีรับมือกับอาการต่าง ๆ ในวันนั้นของเดือนมาฝากค่ะ…
4 วิธี…ลดอาการ
1.ออกกำลังกายเบา ๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อทำให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินออกมา เป็นการระงับการปวดตามธรรมชาติ และทำให้ร่างกายผ่อนคลาย ไม่เครียด ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการต่าง ๆ ทั้งก่อนและขณะมีประจำเดือน
2.จำกัดการบริโภคเกลือ น้ำตาล คาเฟอีน และแอลกอฮอล์ กินอาหารให้ครบทุกหมวดหมู่ เน้นผัก ผลไม้ และคาร์โบไฮเดรต
3.รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ๆ เช่น ตับ ผักใบเขียว เพื่อช่วยให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดใหม่ รับประทานผักและผลไม้ที่มีวิตามินซีมาก ๆ เช่น คะน้า มะเขือเทศ ซึ่งอุดมไปด้วยวิตามินบี เพื่อช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กไปใช้งานได้ดีขึ้น
4.ใช้วิธีธรรมชาติ แต่อาจได้ผลเฉพาะกับบางคนเท่านั้นนะคะ เช่น ช่วงที่มีอาการ จิบชาสมุนไพรร้อน ๆ กินวิตามินซี แคลเซียม และน้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส อาบน้ำอุ่น หรือใช้กระเป๋าน้ำร้อนวางบริเวณท้องน้อย หรือที่หลังก็ช่วยลดอาการปวดได้เช่นกัน
วิธีการเหล่านี้ควรทำเป็นประจำก่อนมีประจำเดือน และควรสังเกตตัวเองดังกล่าวเกิดอาการต่าง ๆ ก่อนมีประจำเดือน ใช้วิธีรักษาใดแล้วได้ผลดีจะได้ใช้วิธีนั้นอีกในครั้งต่อไป
เทคนิคพิเศษบรรเทาอาการปวด
มีผู้หญิงหลายคนที่มีอาการปวดประจำเดือนรุนแรง จึงต้องมีวิธีบำบัดเพิ่มเติม ได้แก่ การพักผ่อนเต็มที่ ใช้กระเป๋าน้ำร้อนวางที่ท้องน้อยหรือที่หลัง เมื่ออาการทุเลาควรออกกำลังกายเบา ๆ และถ้าปวดมาก ๆ อาจใช้ยาแก้ปวด aspirin, ibuprofen, naproxen ร่วมด้วยได้ นอกจากนั้นอาจใช้ยาคุมกำเนิดช่วยให้การรักษาอาการปวดประจำเดือนได้ ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร หรือถ้าเป็นมาก ๆ อาจต้องไปพบสูติแพทย์ เพื่อตรวจดูว่ามีความผิดปกติอะไร และรักษาให้ถูกจุดไปเลยดีกว่า
นอกจากนี้การหลีกเลี่ยงเนื้อแดง นม และอาหารเค็ม จะช่วยลดอาการก่อนมีประจำเดือนและอาการปวดประจำเดือนได้เช่นกัน
การกินเนื้อปลาเพิ่มก็จะช่วยลดอาการปวดประจำเดือนได้ เพราะมีบางรายงานบอกว่าการได้รับ Omega 3 จากเนื้อปลาทะเลจะลดอาการประจำเดือนมามากได้ด้วย
ไขข้อข้องใจของ ประจำเดือน
ประจำเดือนคลาดเคลื่อน รอบเดือนตามปกติจะกินเวลาโดยเฉลี่ย 28 วันซึ่งวงรอบเดือนนี้จะเปลี่ยนแปลงไปตามวัย และขึ้นอยู่กับ เช่น ความเครียด อายุ น้ำหนัก หรือการมีบุตร เป็นต้น
วงรอบของประจำเดือนเกิดขึ้น โดยมีฮอร์โมนจากรังไข่มาควบคุมมดลูกแล้วรังไข่ถูก ควบคุมด้วยฮอร์โมนที่สร้างจากสมอง หากมีอะไรไปรบกวนระบบฮอร์โมนนี้อาจทำให้ รอบเดือนคลาดเคลื่อนไปได้ ที่พบบ่อย ๆ เช่น ความเครียด อดนอน พักผ่อนไม่พอ อ้วนขึ้นหรือผอมลง เจ็บป่วย ไม่สบาย หรือการรับประทานยาบางอย่างก็เป็นเหตุทำให้รอบเดือนมาเร็วขึ้นหรือยืดออกไปได้ แต่หากไม่มาเร็วขึ้นเกินกว่า 7 วัน หรือไม่ยืดเลยออกไปเกิน 7 วันก็ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ค่ะ
หลังคลอด : มามาก vs มาน้อย ปกติจำนวนวันที่มีประจำเดือนอยู่ที่ 3-7 วัน ถ้าเกิน 7 วันขึ้นไปถือว่าผิดปกติ ควรไปพบแพทย์ อย่างไรก็ตามผู้หญิงบางคนก็อาจมีประจำเดือนเพียงแค่วันเดียวหรือมาเยอะเต็มที่ 7 วันเลยก็ได้ตามแต่ลักษณะร่างกาย
โดยปกติผู้หญิงที่ยังไม่เคยมีลูก ประจำเดือนมักมาไม่ค่อยมาก แต่พอผ่านการมีลูกมดลูกจะยืดขยายและแรงบีบรัดก็จะน้อยลงโดยเฉพาะในช่วงหลังคลอดใหม่ ๆ ทำให้รู้สึกว่าประจำเดือนออกมามากกว่าปกติ แต่พอสักระยะหนึ่งมดลูกหดตัวและบีบรัดตัวได้ดีขึ้น ประจำเดือนก็จะน้อยลงไปเอง
ผลข้างเคียง…เมื่อใช้ยาคุม การคุมกำเนิดโดยการกินยาคุมกำเนิดหลังคลอด ปริมาณของประจำเดือนจะน้อยลงกว่าเดิม เฉลี่ยแล้วลดลงประมาณ 30% แต่ถ้าคุมกำเนิดโดยการใส่ห่วงคุมกำเนิด ประจำเดือนกลับจะมามากกว่าเดิมอีก 30% เช่นกันค่ะ
อาการเลือดออกกะปริบกะปรอย ยังพบในคนที่ลืมกินยาหรือกินยาไม่สม่ำเสมอ ไม่กินเวลาเดียวกันทุกวัน แก้ไขได้ด้วยการรับประทานยาให้ตรงเวลาทุกวันเป็นประจำนอกจากนี้อาจพบอาการนี้ได้ในระยะ 2-3 เดือนแรกของการใช้ยา ซึ่งถ้ามีเลือดออกเล็กน้อยให้รับประทานต่อไป แต่ถ้าเลือดออกมากควรรีบปรึกษาแพทย์โดยด่วน
เมื่อหยุดยา ส่วนใหญ่แล้วประจำเดือนจะกลับมาปกติภายใน 3 เดือน หากประจำเดือนไม่มานานเกินกว่า 3 เดือนหลังหยุดยาควรปรึกษาแพทย์
ประจำเดือนเลื่อนได้ไหม ยาเลื่อนประจำเดือน คือฮอร์โมนที่ยับยั้งไม่ให้เกิดการลอกตัวของเยื่อบุมดลูก จนเกิดเป็นประจำเดือนขึ้นมาซึ่งหากจำเป็นต้องใช้ยาเลื่อนประจำเดือน ควรปรึกษาแพทย์
ยาที่ใช้เลื่อนประจำเดือน มี 2 ประเภท
ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ปกติใช้สำหรับคุมกำเนิดซึ่งประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจส เมื่อนำมาใช้เพื่อเลื่อนประจำเดือน จะต้องใช้ล่วงหน้าก่อนวันที่คาดว่าจะมีประจำเดือนมาอย่างน้อย 7 วัน โดยกินวันละ 1 เม็ดทุกวัน เมื่อต้องการให้ประจำเดือนมาจึงหยุดยาหลังจากหยุดยา 2-3 วัน ประจำเดือนก็จะมา
ยาที่มีฮอร์โมนโปรเจสตินอย่างเดียว ที่มีใช้ในบ้านเราคือ Norethisterone ต้องกินก่อนที่คาดว่าจะมีประจำเดือนมาอย่างน้อย 3 วัน
สำหรับผลข้างเคียงที่พบในระหว่างใช้ยาคือ อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ซึมเศร้า น้ำหนักเพิ่ม บวม มึนศีรษะ เป็นต้น ถ้าใช้ยาเลื่อนประจำเดือนอยู่บ่อย ๆ จะมีผลรบกวนประจำเดือนตามปกติ ทำให้แปรปรวนไปจึงไม่แนะนำให้ใช้บ่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้แบบที่ 2 ซึ่งเป็นแบบมีฮอร์โมนขนาดสูง