เบาหวาน

กล่าวมาถึงตอนนี้คุณแม่ตั้งครรภ์หลายท่านคงจะกังวลแล้ว แต่ไม่ต้องตกใจมากนะค่ะ ถ้าคุณแม่ตั้งครรภ์มีการดูแลตนเองที่ดี ตรวจพบอาการเบาหวานตั้งแต่เนิ่นๆ รับการตรวจรักษาอย่างต่อเนื่อง ก็จะสามารถควบคุมอาการของโรคเบาหวานได้ และสามารถตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยทั้งคุณแม่และคุณลูกค่ะ

การดูแลตนเองของคุณแม่ตั้งครรภ์เพื่อป้องกันไม่ให้ได้รับอันตรายจากภาวะเบาหวาน คือ คุณแม่ต้องสำรวจตัวเองก่อนว่ามีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานหรือไม่ ดังนี้ค่ะ

1. มีประวัติกรรมพันธุ์เป็นเบาหวานอาจเป็นกรรมพันธุ์ทางฝ่ายพ่อ หรือฝ่ายแม่ หรือทั้งสองฝ่าย
2. เคยมีประวัติคลอดลูกที่มีน้ำหนักตัวเกิน 4 กิโลกรัม
3. เคยมีประวัติว่าลูกในครรภ์เสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ
4. อ้วน หรือในระหว่างการตั้งครรภ์มีน้ำหนักตัวเพิ่มมากกว่าสัปดาห์ละ ครึ่งกิโลกรัม
5. มีความดันโลหิตสูงขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์
6. สังเกตว่ามีปัสสาวะออกจำนวนมาก ปัสสาวะมีมดดำมาตอม
7. มีอาการคอแห้ง กระหายน้ำมาก
ถ้าคุณแม่ท่านใดมีอาการเหล่านี้ คุณแม่ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาน้ำตาลในเลือด

ตามปกติคุณแม่จะไม่ได้รับการตรวจน้ำตาลในเลือดทุกคน ยกเว้นในคุณแม่ที่เข้าเกณฑ์มีภาวะเสี่ยงดังที่กล่าวข้างต้นค่ะ การตรวจน้ำตาลจะเริ่มตรวจเมื่อตั้งครรภ์ได้ 6-7 เดือน ไม่ควรเกิน 7 เดือน เพราะผลการตรวจอาจไม่แน่นอน ถ้าคุณแม่ตรวจเลือดแล้วพบว่ามีน้ำตาลในเลือดสูง คุณแม่จะได้รับคำแนะนำให้ควบคุมอาหาร การควบคุมอาหารที่ปฏิบัติได้ง่าย ๆ คือ คุณแม่ต้องไม่ รับประทานอาหารที่มีไขมันมาก โดยเฉพาะไขมันจากสัตว์ ไม่รับประทานขนมที่ทำมาจากแป้งและน้ำตาล เช่น คุกกี้ ขนมหวานต่างๆ คุณแม่ควรรับประทานผลไม้สดมากกว่าขนม หรือผลไม้กระป๋อง ผลไม้ที่รับประทานได้ ควรเป็นผลไม้ที่ไม่มีรสหวานมาก ส่วนผักคุณแม่สามารถรับประทานผักได้โดยไม่จำกัด สำหรับข้าวคุณแม่สามารถรับประทานได้ทั้ง 3 มื้อ ในปริมาณที่ไม่มากเกินไป ใน 1 วันไม่ควรเกิน 8 ทัพพี ถ้าไม่ได้รับประทานข้าวคุณแม่สามารถรับประทานก๋วยเตี๋ยวแทนได้ในมื้อนั้นๆ สำหรับเนื้อสัตว์ สามารถรับประทานได้ โดยเลือกเนื้อที่มีไขมันน้อย เช่นเนื้อปลา หมูเนื้อสัน เนื้ออกไก่ ดื่มนมสดได้วันละ 2 แก้วแต่ควรเป็นนมที่มีไขมันน้อย นอกจากการควบคุมอาหารแล้ว คุณแม่ตั้งครรภ์ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอวันละ 15-20 นาที โดยการเดินแกว่งแขน ภายหลังมื้ออาหาร

การควบคุมอาหาร และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้คุณแม่สามารถควบคุมน้ำตาลได้ดี การควบคุมน้ำตาลได้ จะลดภาวะแทรกซ้อนหรืออันตรายต่างๆที่จะเกิดกับคุณแม่และลูกในครรภ์ได้อย่างมาก ถ้าคุณแม่ท่านใดมีน้ำตาลในเลือดสูงมากเกินกว่าที่จะควบคุมโดยการรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย คุณแม่จะต้องได้รับการฉีดอินซูลิน ซึ่งพยาบาลจะให้คำแนะนำให้คุณแม่สามารถฉีดอินซูลินได้ด้วยตนเอง

คุณแม่ที่เป็นเบาหวานทุกคนจะต้องมารับบริการตรวจครรภ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งคุณหมอหรือคุณพยาบาลจะนัดคุณแม่มาตรวจบ่อยกว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ปกติทั่วไป คุณแม่ที่เป็นเบาหวานจำเป็นต้องมาตรวจตามนัดทุกครั้ง เพราะจะมีการติดตามตรวจดูระดับน้ำตาลในเลือดเป็นระยะๆ และมีการตรวจสุขภาพของลูกในครรภ์โดยการใช้เครื่องอัลตราซาวด์ คุณแม่ที่ควบคุมน้ำตาลได้ดีจะสามารถคลอดบุตรได้เมื่อครบกำหนดคลอด
เป็นอย่างไรบ้างค่ะฟังแล้วหวังว่าคุณแม่คงจะไม่เครียดมากนะค่ะ คุณแม่ท่านใดที่สงสัยว่าตนเองเสี่ยง ควรไปตรวจเลือดหาเบาหวานนะค่ะ เพื่อจะได้ดูแลตนเองได้เหมาะสม ถ้าคุณแม่ท่านใดมีข้อสงสัย หรือต้องการข้อมูลในการดูแลตนเองเพิ่มเติม เขียนจดหมายสอบถามได้ที่ภาควิชาการพยาบาลแม่และเด็ก คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา วันนี้คงต้องกล่าวสวัสดีแล้วละค่ะ ขอให้คุณแม่ทุกท่านมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงค่ะ สวัสดีค่ะ