ผู้ใหญ่ไทยไร้คุณภาพ

ผู้ใหญ่ไทยไร้คุณภาพ

 

22 เม.ย. – นักวิชาการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ชี้อีก 10 ปีสังคมไทย ผู้ใหญ่คุณภาพต่ำ-แรงงานสตรีราคาถูก-ผู้สูงอายุไร้ความสุข ระบุเป็นเรื่องใหญ่ต้องเปลี่ยนโครงสร้างเพื่อเปลี่ยนวิธีคิด หวั่นเจ้าภาพเดียว รับมือไม่ไหว

ดร.วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์ อาจารย์สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว เปิดเผยผลวิจัยเรื่อง “สถานการณ์สุขภาวะครอบครัวไทย ปี 2554-2555 โดยสำรวจครอบครัวไทยทั่วประเทศ จำนวน 4,000 ตัวอย่าง จาก 9 จังหวัด ในทุกภาค พบว่า ปัจจุบันครอบครัวไทยบกพร่องในการทำหน้าที่สำคัญ คือ การเตรียมบุตรหลานของตนให้มีความรู้ความสามารถเพียงพอในการปกป้องดูแลตนเอง โดยเฉพาะการตั้งรับกับปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมซึ่งกำลังเป็นปัญหาที่มีความรุนแรง ผลวิจัยชี้ว่า ครอบครัวไทยร้อยละ 10 ไม่มีการเตรียมให้ความรู้กับลูกวัยรุ่นว่าด้วยการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยและการตั้งครรภ์เมื่อพร้อม ในขณะที่อีกร้อยละ 13.7 ให้ข้อมูลว่า แทบไม่ได้เตรียมเลย

อาจารย์สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กฯ กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว และคนทำงานกำลังจะกลายเป็นคนสูงอายุในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า การจะเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ มีความสุขและไม่เป็นภาระของลูกหลานขึ้นอยู่กับการเตรียมตัวก่อนเกษียณใน 4 ประเด็นสำคัญ คือ 1. การเตรียมตัวด้านเงินออม 2.การเตรียมตัววางแผนอาชีพ/กิจกรรมหลังเกษียณ 3.การออกกำลังกายเพื่อเตรียมสุขภาพ และ 4. การเตรียมตัวเพื่อการพึ่งตนเองด้านที่อยู่อาศัย ข้อค้นพบจากงานวิจัยชิ้นนี้ระบุว่าครอบครัวไทยร้อยละ 6.4 แทบจะไม่มีการวางแผนเรื่องเงินออมเลย ในขณะที่ครอบครัวอีกร้อยละ 23.3 ไม่มีการวางแผนเรื่องอาชีพ/กิจกรรมหลังเกษียณ อีกร้อยละ 15.9 ไม่มีการออกกำลังกายเพื่อเตรียมสุขภาพ และอีกร้อยละ 14.4 ยังไม่ได้เตรียมการด้านที่อยู่อาศัยเลย

“ถ้าปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไขในอีก 10-20 ปี ข้างหน้าประเทศไทยจะมีทรัพยากรมนุษย์เกิดจากความไม่พร้อม ไม่ตั้งใจนำมาซึ่งโอกาสที่จำกัด และสุดท้ายกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่ำ และในเวลาเดียวกันเราจะได้แรงงานสตรีราคาถูกเพราะออกจากระบบการศึกษาก่อนกำหนด ภาครัฐต้องรับภาระผู้สูงอายุจำนวนมหาศาลซึ่งไม่สามารถดูแลตนเองได้ หรือดูแลตนเองได้ในระดับต่ำ ผู้สูงอายุเหล่านี้ไม่มีทั้งเงินออมในการดูแลตนเอง ไม่มีอาชีพ ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เหล่านี้หมายถึงงบประมาณมหาศาลที่ภาครัฐจะต้องทุ่มลงไป ดังนั้นทุกหน่ายงานควรร่วมสร้างและจรรโลงสังคมทั้งทางตรงหรือทางอ้อม เป็นปัญหาใหญ่เกินกว่าจะมี เจ้าภาพเจ้าเดียว เพราะเป็นปัญหาระดับโครงสร้างที่ต้องการการเปลี่ยนวิธีคิดของคนในสังคม” ดร.วิมลทิพย์ กล่าว

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร เลขาธิการสมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผลการวิจัยสะท้อนให้เห็นว่า ครอบครัวตกอยู่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยนอกครอบครัว ซึ่งต้องการพื้นที่สำหรับครอบครัวที่จะเข้าถึงข้อมูลที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับครอบครัว เตรียมทักษะที่จะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้เท่าทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะทักษะในการวิเคราะห์ ตัดสินใจเลือกทางเลือกที่ส่งผลต่อตนเองและครอบครัวในอนาคต การเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ให้ครอบครัวเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนสามารถมีส่วนร่วม โดยกลไกรัฐทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุน และสร้างนโยบายส่งเสริมครอบครัวที่มีศักยภาพร่วมกับมาตรการการดูแลครอบครัว ที่ขาดโอกาส ครอบครัวเรียนรู้จะเป็นครอบครัวอบอุ่นที่เตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม